×
ถาม อะไรคือหุกุ่มของการตระเวนไปยังมัสญิดต่างๆ เพื่อที่จะละหมาดตามอิมามที่มีเสียงอันไพเราะ โดยหวังให้เกิดสมาธิ (คุชูอฺ) และทำให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวในระหว่างการละหมาด? ฟัตวาจากเว็บอิสลามคิวเอ

    การตระเวนไปยังมัสญิดต่างๆเพื่อที่จะละหมาดตามอิมามที่มีเสียงอันไพเราะ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด

    แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ

    ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : เว็บไซต์ islamqa.com

    2013 - 1434


    تتبع المساجد طلبًا لحسن الصوت

    « باللغة التايلاندية »

    محمد صالح المنجد

    ترجمة: محمد صبري يعقوب

    مراجعة: عصران نيومديشا

    المصدر: موقع الإسلام سؤال وجواب

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การตระเวนไปยังมัสญิดต่างๆ เพื่อที่จะละหมาดตามอิมามที่มีเสียงอันไพเราะ

    มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พรอันประเสริฐและความศานติจงมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเครือญาติตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    ถาม อะไรคือหุกุ่มของการตระเวนไปยังมัสญิดต่างๆ เพื่อที่จะละหมาดตามอิมามที่มีเสียงอันไพเราะ โดยหวังให้เกิดสมาธิ (คุชูอฺ) และทำให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวในระหว่างการละหมาด?

    ตอบ อัลหัมดุลิลลาฮฺ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ

    “ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ที่จะปฏิบัติในสิ่งดังกล่าว หากจุดประสงค์ข้างต้นนั้นจะส่งผลช่วยให้เกิดสมาธิ(คุชูอฺ) และความพึงพอใจในการละหมาด อีกทั้งทำให้เกิดความสงบสุขของจิตใจ ต้องยอมรับว่าน้ำเสียงที่ไพเราะนั้นจะนำมาซึ่งความพึงพอใจของผู้ฟังอย่างแน่นอน ดังนั้นหากเขามีความตั้งใจที่จะไปละหมาดที่หนึ่งที่ใดเพื่อไปรับฟังเสียงของคนคนหนึ่งหรือของคนที่เขาชื่นชอบ ซึ่งจะทำให้สมาธิของการละหมาดนั้นมีความสมบูรณ์มากขึ้นแล้วนั้น ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดที่เขาจะปฏิบัติเช่นนั้น ไม่เพียงเท่านั้นเขาจะได้รับผลตอบแทนและผลบุญในสิ่งที่เขาตั้งเจตนาอีกด้วย โดยแน่แท้คนคนหนึ่งอาจจะมีสมาธิในการละหมาดเมื่อเป็นมะอ์มูมของคนคนหนึ่ง และอาจจะไม่มีสมาธิเมื่อเป็นมะอ์มูมของอีกคนหนึ่ง เนื่องจากความแตกต่างของน้ำเสียงและการละหมาดนั้น ๆ ดังนั้นก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด หากเขามีความตั้งใจในการเดินทางไปยังมัสญิดซึ่งอยู่ไกลออกไป เพื่อรับฟังน้ำเสียงการอ่านอัลกุรฺอานอันไพเราะ และมีเจตนาเพื่อการแสวงหาประโยชน์และความรู้จากสิ่งนั้น อีกทั้งสามารถทำให้เกิดสมาธิในการละหมาดมากขึ้น โดยที่มิได้เป็นไปเพียงเพื่อความบันเทิงใจหรือความสุขที่ได้ตระเวนไปวันๆ ดังปรากฏในหะดีษที่ถูกต้องจากท่านนบี อะลัยฮิศเศาะลาตุวัสสลาม ได้กล่าวว่า

    « أَعْظَمُ النَّاسِ أَجْرًا فِي الصَّلَاةِ : أَبْعَدُهُمْ فَأَبْعَدُهُمْ مَمْشًى »

    ความว่า “มนุษย์ที่จะมีผลบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการละหมาดของเขานั้นคือ ผู้ที่อยู่ห่างไกล (จากมัสญิด) มากที่สุดจากหมู่พวกเขา รองลงมาคือผู้ที่อยู่ใกล้เข้ามา" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 651 และมุสลิม 662)

    และหากความตั้งใจของเขานั้นเป็นไปเพื่อเพิ่ม (ผลบุญของ) การก้าวเดิน (ไปยังมัสญิด) สิ่งนั้นก็ถือเป็นความตั้งใจที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน"

    (จากหนังสือ มัจมูอฺอัลฟะตาวา ชัยคฺ อับดุลอะซีซ บินบาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ 11/238-329)

    ที่มา: http://www.islamqa.com/ar/106530