บทบัญญัติเกี่ยวกับวันอีด และซุนนะฮฺต่างๆ ในวันอีด
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
แหล่งอ้างอิง
Full Description
บทบัญญัติเกี่ยวกับวันอีดและซุนนะฮฺต่างๆ ในวันอีด
أحكام العيد والسنن التي فيه
แปลโดย: รุสดี การีสา
ترجمة : رشدي كاريسا
บทบัญญัติเกี่ยวกับวันอีดและซุนนะฮฺต่างๆ ในวันอีด
ถาม : ผมต้องการทราบเกี่ยวกับซุนนะฮฺต่างๆ ที่ส่งเสริมให้กระทำและบทบัญญัติเกี่ยวกับวันอีด?
ตอบ :
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวาตะอาลา ได้กำหนดบัญญัติว่าด้วยการอีดในหลายๆ เรื่องดังนี้
1. ส่งเสริมให้มีการตักบีร ในคืนอีด เริ่มจากพระอาทิตย์ตกในคืนสุดท้ายของเราะมะฎอนไปจนกระทั่งอีหม่ามมาพร้อมเพื่อที่จะทำการละหมาดอีด โดยการกล่าว
الله أكبر الله أكبر ، لا إله إلا الله ، الله أكبر ، الله أكبر ولله الحمد
หรือ กล่าวตักบีรสามครั้งโดยการกล่าว
الله أكبر ، الله أكبر ، الله أكبر ، لا إله إلا الله ، الله أكبر ، الله أكبر ، ولله الحمد
และทั้งหมดนี้อนุญาตให้กล่าวได้
และควรที่จะกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ดังในทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาด มัสยิด หรือที่บ้าน และไม่อนุญาตให้มุสลิมะฮฺกล่าวตักบีรด้วยเสียงที่ดัง
2. รับประทานอินทผลัมด้วยจำนวนคี่ก่อนออกไปละหมาดอีด เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จะไม่ออกไปในวันอีดกระทั่งท่านจะรับประทานอินทผลัมในจำนวนที่เป็นวิติรเสียก่อน, และขอให้รับประทานตามจำนวนที่เป็นวิติรเท่านั้น, ดังแบบอย่างที่ท่านนบีได้กระทำ
3. แต่งกายชุดที่ดีที่สุดสำหรับมุสลิม ส่วนมุสลิมะฮฺนั้นไม่ควรแต่งกายชุดที่โดดเด่นในขณะที่ออกไปทำการละหมาดอีด เนื่องจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า (وليخرجن تَفِلات) หมายความว่า “ขอให้พวกนางออกไปโดยการแต่งกายที่ธรรมดาปกปิดเอารัตไม่โดดเด่น" และถือว่าบาปหากพวกนางออกไปโดยการแต่งกายที่สวยงามและโดดเด่น
4. อุละมาอ์บางท่านได้ส่งเสริมให้ทำการอาบน้ำเพื่อออกไปละหมาดอีด เพราะได้มีการกล่าวอ้างถึงสะลัฟบางท่าน และการอาบน้ำเพื่อไปละหมาดอีดนั้นเป็นการส่งเสริมให้กระทำอย่างยิ่ง ดังเช่นที่ได้กำหนดในการละหมาดญุมอะฮฺเนื่องจากเป็นรวมกลุ่มกัน ซึ่งหากผู้หนึ่งได้ทำการอาบน้ำจะเป็นการดียิ่งสำหรับเขา
5. การละหมาดอีด อุละมาอ์มีความเห็นที่พ้องกันว่ามีบทบัญญัติให้ละหมาดอีด แต่มีความเห็นต่างกันในหุก่ม บางท่านกล่าวว่า “เป็นการส่งเสริมให้กระทำ" บางท่านกล่าวว่า “การละหมาดนั้นเป็นฟัรฏูกิฟายะฮฺ" และบางท่านกล่าวว่า “การละหมาดนั้นเป็นฟัรฏูอีน ผู้ใดละทิ้งถือว่าเป็นบาป" โดยได้อ้างหลักฐานจากหะดีษซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้สั่งให้บรรดาภรรยาของท่านและบรรดาผู้ที่ไม่เคยออกนั้นให้ออกมาทำการละหมาดในวันดังกล่าวที่สนามละหมาด ยกเว้นมุสลิมะฮฺที่มาประจำเดือนซึ่งให้อยู่ห่างจากสนามละหมาด(มุศ็อลลา) เพราะไม่อนุญาตให้หญิงที่มีประจำเดือนนั่งอยู่ในมัสยิด ถึงแม้ว่าจะเป็นการอนุญาตให้พวกนางผ่านบนมัสยิดได้ก็ตาม
และที่ถูกต้องที่สุดสำหรับฉันนั้นคือ การละหมาดอีดนั้นถือว่าเป็นฟัรฏูอีน และจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องออกไปละหมาดอีดนอกจากผู้ที่มีจำเป็นเท่านั้นจึงได้อนุโลมให้ และเป็นทัศนะที่ ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ เห็นด้วย
และให้อีหม่ามอ่านในร็อกอัตแรกด้วยซูเราะฮฺ อัลอะอฺลา และในร็อกอัตที่สองด้วยซูเราะฮฺอัลฆอชิยะฮฺ หรือ จะอ่านซูเราะฮฺ กอฟ ในร็อกอัตแรกและซูเราะฮฺ อัลเกาะมัร ในร็อกอัตที่สอง ซึ่งทั้งสองซูเราะฮฺนี้มีหลักฐานอ้างจากหะดีษของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
6. กรณีที่วันอีดตรงกับวันศุกร์ ให้ทำการละหมาดอีด หลังจากนั้นให้ทำการละหมาดวันศุกร์เช่นกัน ดังหลักฐานจากหะดีษ อัลนุมาน บิน บะชีร ที่บันทึกโดยอีหม่ามมุสลิม หากแต่ผู้ใดที่ได้ทำการละหมาดอีดในวันดังกล่าวแล้ว เขาสามารถที่จะเลือกละหมาดระหว่างละหมาดวันศุกร์หรือละหมาดซุฮรีได้
7. และกรณีที่ผู้ที่มาละหมาดอีดนั้นมาก่อนที่อีหม่ามจะมาถึง ในทัศนะของอุลามาอ์ส่วนใหญ่นั้น ให้เขานั่งรอโดยที่ไม่ต้องทำการละหมาดสุนัตใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากท่านนบีได้ทำการละหมาดอีดสองร็อกอัตโดยที่ท่านมิได้ทำการละหมาดสุนัตใดๆ ก่อนหรือหลังละหมาดอีด
และมีบางทัศนะที่มองว่าเมื่อใดที่เขาได้มาถึงสถานที่ละหมาดเขาไม่ควรที่จะนั่งลงนอกเสียจากได้ทำการละหมาดสุนัตแล้วสองร็อกอัต เนื่องจากสถานที่ละหมาดอีดนั้นเปรียบเสมือนมัสยิดหนึ่ง ดังที่ได้ห้ามสตรีที่มาประจำเดือนเข้าไปอยู่ในบริเวณดังกล่าว ด้วยเหตุนี้สถานที่ละหมาดอีดเป็นดังมัสยิด เช่นนี้แล้วจึงครอบคลุมด้วยหลักฐานที่ท่านนบีห้ามไม่ให้ผู้ที่เข้ามัสยิดนั่งก่อนที่เขาจะทำการละหมาดสุนัตสองร็อกอัตก่อน ส่วนเหตุที่ท่านไม่ได้ละหมาดสุนัตเมื่อมาถึงนั้นเพราะทันทีที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มาถึงก็เริ่มทำการละหมาดอีดทันที
ดังนั้นจึงเป็นการบัญญัติให้มีการละหมาดสุนัตตะหิยะตุลมัสยิดในการละหมาดอีดดังเช่นการเข้าไปในมัสยิดเพื่อการละหมาดอื่นๆ เช่นกัน และหากเราจะอ้างจากหะดีษว่า สถานที่ละหมาดอีดนั้นไม่ใช่มัสยิดเราก็สามารถที่จะกล่าวได้เหมือนกันว่าจะไม่มีการละหมาดตะหิยะตุลมัสยิดในการละหมาดวันศุกร์เช่นเดียวกัน เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เมื่อท่านมาถึงมัสยิดท่านเริ่มทำการอ่านคุฏบะฮฺทันทีหลังจากนั้นก็ละหมาดวันศุกร์แล้วท่านก็เดินกลับโดยที่ท่านไปละหมาดสุนัตญุมอะฮฺที่บ้านของท่าน จะเห็นว่าท่านมิได้ละหมาดสุนัตใดๆ ก่อนหรือหลังละหมาดวันศุกร์เช่นกัน
และที่ถูกต้องที่สุดสำหรับฉันนั้นคือให้มีการละหมาดสุนัตสองร็อกอัตก่อนการละหมาดอีดถึงกระนั้นก็ไม่ควรไปตำหนิอีกทัศนะหนึ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องของความขัดแย้งในทัศนะ (คิลาฟียะฮฺ) และเป็นการไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปตำหนิในเรื่องดังกล่าวนอกเสียจากมีหลักฐานปรากฏชัดเจนเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าผู้ใดจะทำตามทัศนะใดก็ตามไม่ควรที่จะไปตำหนิอีกทัศนะหนึ่ง
8. การจ่ายซะกาตฟิฏรฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้มีคำสั่งให้ทำการจ่ายซะกาตอีดก่อนการละหมาดอีด และอนุญาตให้ทำการจ่ายซะกาตอีดก่อนวันอีดหนึ่งหรือสองวัน ดังหะดีษรายงานโดยอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา บันทึกโดย อัลบุคอรี ความว่า “และพวกเขาได้ทำการจ่ายซะกาตอีดก่อนวันอีดหนึ่งวันหรือสองวัน" และหากทำการจ่ายซะกาตอีดหลังละหมาดแล้วการศอดะเกาะของเขานั้นจะไม่เป็นซะกาตอีด ดังหะดีษที่รายงานโดยอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ความว่า “ผู้ใดที่ทำการจ่ายซะกาตก่อนการละหมาดดังนั้นซะกาตของเขาจะถูกรับ และผู้ใดทำการจ่ายซะกาตหลังการละหมาดเช่นนี้แล้วซะกาตของเขาจะเป็นเสมือนกับการเศาะดะเกาะฮฺทั่วๆ ไป" ดังนั้นเป็นการบาปสำหรับผู้หนึ่งที่ทำการจ่ายซะกาตอีดล่าช้าจนกระทั่งละหมาดอีด และหากเขาจงใจทำให้ล่าช้าในการออกซะกาตเช่นนี้แล้วซะกาตของเขาจะไม่ถูกรับ และหากเขาออกซะกาตล่าช้าอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย เช่นอยู่ระหว่างการเดินทาง และไม่มีผู้ที่จะช่วยออกซะกาตให้ หรือเขาได้มอบให้ผู้อื่นออกให้แล้วเช่นนี้ให้ออกซะกาตได้ตามที่เขาสะดวก ถึงแม้ว่าจะออกซะกาตหลังละหมาดอีดแล้วก็ตามไม่ถือว่าบาปเนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยนั่นเอง
9. ให้ทำการอวยพรแก่กันและกัน ถึงกระนั้นก็เกิดสิ่งที่เป็นต้องห้ามในเรื่องดังกล่าวนั่นคือ การที่มุสลิมเข้าไปในบ้านของมุสลิมะฮฺแล้วจับมือกับมุสลิมะฮฺพร้อมกับคำอวยพร
และเราจะพบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่รังเกียจผู้ที่ไม่ยอมจับมือกับคนที่ไม่ใช่มะหฺร็อมของเขา ที่จริงพวกเขา(ที่รังเกียจ)นั่นแหล่ะที่อธรรม ไม่ใช่เขา(ผู้ที่ไม่ยอมจับมือ)เป็นผู้อธรรม พวกเขานั่นแหล่ะเป็นคนตัดขาดสัมพันธ์กับญาติ ไม่ใช่เขา อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องชี้แนะพวกเขาให้สอบถามกับผู้รู้ และอย่าให้พวกเขาโกรธเพียงเพราะต้องการทำตามประเพณีที่สืบทอดกันมาจากคนรุ่นก่อน เพราะประเพณีนั้นไม่สามารถทำให้สิ่งหะรอมเป็นหะลาลได้ และไม่สามารถเปลี่ยนที่หะลาลให้เป็นหะรอมได้เช่นกัน และต้องอธิบายว่า ถ้าพวกเขาทำเช่นนั้น (จับมือกับคนที่ไม่ใช่มะหฺร็อมตามประเพณีสืบทอด) พวกเขาก็ย่อมเป็นเสมือนกับคนที่ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอานว่า
«وَكَذَلِكَ مَآ أَرْسَلْنَا مِن قَبْلِكَ فِى قَرْيَةٍ مِّن نَّذِيرٍ إِلاَّ قَالَ مُتْرَفُوهَآ إِنَّا وَجَدْنَآ ءَابَآءَنَا عَلَى أُمَّةٍ وَإِنَّا عَلَى ءَاثَـارِهِم مُّقْتَدُونَ» [الزخرف /23]
ความว่า "และเช่นนั้นแหละ เรามิได้ส่งผู้ตักเตือนคนใดก่อนหน้าเจ้าไปยังเมืองใด เว้นแต่บรรดาผู้ฟุ่มเฟือยของมัน (เมืองนั้น) จะกล่าวว่า แท้จริงเราได้พบเห็นบรรพบุรุษของเราอยู่ในแนวทางนี้ ดังนั้นเราจึงดำเนินตามแนวทางของพวกเขา"
ผู้คนบางส่วนได้ออกไปยังกุโบร์ในวันอีดจนเป็นความเคยชิน เพื่ออวยพรให้แก่คนตายในกุโบร์ ซึ่งที่จริงแล้วคนตายในกุโบร์ไม่ได้ต้องการการอวยพรของคนเหล่านั้นเลย เพราะพวกเขาไม่ได้ศิยาม(ถือศีลอด)และไม่ได้กิยาม(ละหมาดตะรอวีหฺในเดือนเราะมะฎอน)
การเยี่ยมกุโบร์ไม่ได้เจาะจงว่าต้องทำในวันอีด หรือวันศุกร์ หรือวันใดวันหนึ่งแน่นอน และได้มีรายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้นเยี่ยมกุโบร์ในเวลากลางคืน เช่นที่มีรายงานจากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ในบันทึกของมุสลิมว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวความว่า "จงเยี่ยมกุโบร์ เพราะมันสามารถทำให้ระลึกถึงอาคิเราะฮฺได้"
การเยี่ยมกุโบร์นั้นเป็นอิบาดะฮฺ เมื่อเป็นอิบาดะฮฺย่อมจะทำไม่ได้เว้นแต่ต้องตรงกับหลักชะรีอะฮฺเท่านั้น และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ไม่ได้เจาะจงวันอีดเพื่อเยี่ยมกุโบร์ จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่เราจะเจาะจงใช้วันอีดเพื่อการนั้น
10. การแสดงความมีไมตรีจิตต่อกันด้วยการสวมกอดระหว่างผู้ชายด้วยกันซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้
11. เป็นการส่งเสริมสำหรับผู้ที่ออกไปละหมาดอีด ให้ออกไปทางเส้นหนึ่งและกลับไปอีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นแบบอย่างที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กระทำ และซุนนะฮฺนี้เจาะจงเฉพาะการออกไปละหมาดอีดเท่านั้น ซึ่งไม่รวมไปถึงการละหมาดญุมอะฮฺและละหมาดอื่นๆ
คัดอย่างย่อจาก มัจญ์มูอฺ ฟะตาวา ของ อิบนุ อุษัยมีน (เล่ม 16 หน้า 216-223)