ห้ามสวมใส่เสื้อผ้ายาวเลยตาตุ่ม
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
Full Description
ห้ามสวมใส่เสื้อผ้ายาวเลยตาตุ่ม
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
2012 - 1433
﴿ تحريم الإسبال ﴾
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبد الله الشقاوي
ترجمة: حسنى فوانجسيري
مراجعة: عصران نيومديشا
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เรื่องที่ 133
ห้ามใส่เสื้อผ้ายาวเลยตาตุ่ม
มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿يَٰبَنِيٓ ءَادَمَ قَدۡ أَنزَلۡنَا عَلَيۡكُمۡ لِبَاسٗا يُوَٰرِي سَوۡءَٰتِكُمۡ وَرِيشٗاۖ وَلِبَاسُ ٱلتَّقۡوَىٰ ذَٰلِكَ خَيۡرٞۚ ذَٰلِكَ مِنۡ ءَايَٰتِ ٱللَّهِ لَعَلَّهُمۡ يَذَّكَّرُونَ ٢٦﴾ [الأعراف: ٢٦]
ความว่า “ลูกหลานอาดัมเอ๋ย แท้จริงเราได้ให้ลงมาแก่พวกเจ้าซึ่งเครื่องนุ่งห่มที่ปกปิดสิ่งที่อันน่าละอายของพวกเจ้าและเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความสวยงาม และเครื่องนุ่งห่มแห่งความยำเกรงนั้นคือสิ่งที่ดียิ่ง นั่นแหละคือส่วนหนึ่งจากบรรดาโองการของอัลลอฮฺ เพื่อที่ว่าเขาเหล่านั้นจะได้รำลึก” (อัล-อะอฺรอฟ 26)
เสื้อผ้าอาภรณ์นั้นเป็นนิอฺมัตความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺแก่บ่าวของพระองค์ เพื่อให้พวกเขาใช้ปกปิดอวัยวะพึงสงวน (เอาเราะฮฺ) และปกป้องพวกเขาจากความร้อนความหนาวและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ บทบัญญัติอิสลามระบุอย่างละเอียดชัดเจนถึงขอบเขตอวัยวะที่จำเป็นต้องปกปิด ทั้งวิธีการและลักษณะของการสวมใส่ว่าอย่างไรถึงจะเป็นที่อนุมัติ หรืออย่างไรเป็นที่ต้องห้าม
และส่วนหนึ่งจากข้อห้ามเกี่ยวกับการสวมใส่เสื้อผ้าคือการสวมใส่กางเกงหรือชุดใดๆสำหรับบุรุษในลักษณะที่ปล่อยชายผ้ายาวเลยลงต่ำกว่าตาตุ่ม ท่านอิบนุ อุมัรฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«الإِسْبَالُ فِي الإِزَارِ وَالقَمِيْصِ، وَالعِمَامَةِ، مَنْ جَرَّ مِنْهَا شَيْئًا خُيَلَاءَ لَمْ يَنْظُرِ اللهُ إِلَيْهِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ».
ความว่า “ผู้ใดสวมใส่เสื้อผ้าโดยที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งยาวระพื้นด้วยความหยิ่งผยองโอหัง ในวันกิยามะฮฺอัลลอฮฺจะไม่ทรงมองเขา” (หะดีษหมายเลข 4094)
ทั้งนี้ มีหะดีษมากมายหลายบทระบุถึงการห้ามปล่อยชายเสื้อผ้ายาวเลยตาตุ่ม และล้วนเป็นหะดีษที่มีสายรายงานที่ถูกต้องบันทึกไว้ในตำราหะดีษต่างๆ โดยมีรายงานบันทึกผ่านบรรดาเศาะหาบะฮฺหลายต่อหลายท่าน เช่น อิบนุอับบาส อิบนุอุมัร อิบนุมัสอูด อบูฮุร็อยเราะฮฺ อบูสะอีด อัลคุดรีย์ และท่านอื่นๆ และรายงานเหล่านั้นทั้งหมดก็ล้วนระบุชัดเจนถึงข้อห้าม และการเตือนสำทับอย่างรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำที่ได้รับการเตือนสำทับอย่างรุนแรงว่าเป็นหนทางแห่งไฟนรก หรือความพิโรธโกรธเคืองจากอัลลอฮฺ ย่อมเป็นการกระทำอันต้องห้าม และเป็นบาปใหญ่ อันเป็นบัญญัติข้อห้ามเด็ดขาดที่มิอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างได้
ทั้งนี้ ผู้ที่สวมใส่อาภรณ์โดยปล่อยชายผ้ายาวเลยตาตุ่มนั้นถือว่ากำลังกระทำการละเมิดมากมายหลายประการด้วยกัน นั่นก็คือ
ประการแรก เป็นการฝ่าฝืนแบบอย่างและคำสั่งใช้ของท่านเราะสูล ดังมีรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«أزْرَةُ الُمؤْمِنْ إِلَى عَضَلَةِ سَاقَيْهِ، ثُمَّ إِلَى نِصْفِ سَاقَيْهِ، ثُمَّ إِلىَ كَعْبَيْهِ، فَمَا كاَنَ أَسْفَلَ مِنْ ذَلِكَ فِي النَّار».
ความว่า “ขอบเขตเสื้อผ้าของบรรดามุอ์มินชายนั้น ยาวถึงจุดที่สูงกว่าครึ่งน่องเล็กน้อย หากยาวกว่านั้นก็ให้ถึงครึ่งน่อง หากยาวกว่านั้นก็ให้ถึงตาตุ่ม ส่วนใดที่ยาวเลยลงมาจากส่วนดังกล่าวจะอยู่ในไฟนรก” (อะหฺมัด 2/278)
และในอีกกระแสหนึ่งระบุว่า
«فإن أبَيْتَ فَأَسْفَل، فَإنْ أَبَيْتَ فَلاَ حَقَّ للِإِزَارِ فِي اْلكَعْبَيْنِ».
ความว่า "ถ้าท่านอยากให้ยาวกว่านั้นก็ให้ลงไปอีกนิด แต่ถ้าอยากให้ยาวกว่านั้น ก็ไม่เป็นที่อนุมัติให้สวมใส่ผ้าเลยต่ำกว่าตาตุ่ม" (อัตติรมีซียฺ หะดีษหมายเลข 1783)
ซึ่งตาตุ่มหมายถึง กระดูกที่เด่นชัดขึ้นมาทางด้านข้างของข้อเท้าทั้งสองข้างนั่นเอง
ประการที่สอง ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้ายาวเลยตาตุ่มทั้งสองข้าง คือผู้ที่ถูกสาปแช่งอย่างรุนแรง จากหะดีษของท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَا أَسْفَلَ مِنَ الكَعْبَيْنِ مِنَ الإِزَارِ فَفِي النَّارِ».
ความว่า “ผู้ใดที่สวมใส่เสื้อผ้ายาวเลยตาตุ่ม เขานั้นคือผู้ที่อยู่ในนรก” (หน้า 1132 หะดีษเลขที่ 5787)
ประการที่สาม การกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความรู้สึกหยิ่งผยอง นึกว่าตนเองยิ่งใหญ่สูงส่งเหนือผู้ใด โดยหลงลืมความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีแก่บ่าวของพระองค์ ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่สมควรได้รับความเกลียดชังยิ่งจากอัลลอฮฺ ตะอาลา และจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พระองค์อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿إِنَّ ٱللَّهَ لَا يُحِبُّ كُلَّ مُخۡتَالٖ فَخُورٖ ﴾ [لقمان: ١٨]
ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺมิทรงชอบผู้หยิ่งจองหองและผู้คุยโวโอ้อวด” (ลุกมาน 18)
ประการที่สี่ การแต่งกายในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการเลียนแบบสตรี ท่านอิบนุอับบาส ได้กล่าวว่า
«لَعَنَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ المُتَشَبِّهِيْنَ مِنَ الرِجَالِ بِالنِسَاءِ، وَالمُتَشَبِّهَاتِ مِنَ النِسَاءِ بِالرِجَالِ».
ความว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สาปแช่งบุรุษที่ทำตัวเลียนแบบสตรี และสตรีที่ทำตัวเลียนแบบบุรุษ” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5885)
ประการที่ห้า การใส่เสื้อผ้ายาวระพื้น อาจทำให้เปื้อนสิ่งสกปรกและนะญิส ซึ่งมุอ์มินนั้นถูกสั่งใช้ให้ออกห่างจากสิ่งสกปรกเหล่านั้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿وَثِيَابَكَ فَطَهِّرۡ ٤﴾ [المدثر: ٤]
ความว่า “และเสื้อผ้าของเจ้า จงทำให้สะอาด” (อัล มุดดัษษิร 4)
ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้ไปเยี่ยมชายคนหนึ่งขณะที่เขากำลังจะเสียชีวิตอยู่บนที่นอนของเขา และได้สั่งใช้ให้ชายคนนั้นยกชายผ้าของเขาขึ้น และกล่าวกับเขาว่า “การทำเช่นนี้ทำให้เสื้อผ้าของท่านสะอาดมากกว่า และเป็นการยำเกรงต่อพระเจ้าของท่าน” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3700)
ประการที่หก การทำอิบาดะฮฺอาจจะไม่ถูกตอบรับ ดังมีรายงานของท่านอิบนุมัสอูดเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ أَسْبَلَ إِزَارَهُ فِيْ صَلَاتِهِ خُيَلَاءَ، فَلَيْسَ مِنَ اللهِ فِيْ حِلٍّ وَلَا حَرَامٍ».
ความว่า “ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้ายาวระพื้นในละหมาดด้วยความโอหังนั้น อัลลอฮฺจะไม่ทรงใส่ใจในตัวเขาเลย” (อบูดาวุด หะดีษเลขที่ 637)
ประการที่เจ็ด การสวมเสื้อผ้ายาวระพื้นนั้นถือเป็นบาปใหญ่ ท่านอบูซัรฺ อัลฆิฟารีย์ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«ثَلَاثَةٌ لَا يُكَلِّمُهُمُ اللَّهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ ، وَلَا يَنْظُرُ إِلَيْهِمْ وَلَا يُزَكِّيهِمْ وَلَهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ» قَالَ: فَقَرَأَهَا رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ثَلَاثَ مِرَارًا ، قَالَ أَبُو ذَرٍّ: خَابُوا وَخَسِرُوا ، مَنْ هُمْ يَا رَسُولَ اللَّهِ ؟ قَال: الْمُسْبِلُ ، وَالْمَنَّانُ ، وَالْمُنَفِّقُ سِلْعَتَهُ بِالْحَلِفِ الْكَاذِبِ».
ความว่า "ในวันกิยามะฮฺ มีบุคคล 3 จำพวกที่อัลลอฮฺจะไม่ทรงสนทนากับพวกเขา ไม่ทรงมองไปยังพวกเขา ไม่ทรงทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์ และพวกเขานั้นจะได้รับการลงโทษอย่างแสนสาหัส” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวเช่นนี้ 3 ครั้ง อบูซัรจึงกล่าวว่า “แน่นอนพวกเขาคือผู้ที่พ่ายแพ้และขาดทุนอย่างยิ่ง พวกเขาคือใครกันหรือท่านเราะสูลุลลอฮฺ?” ท่านเราะสูลกล่าวตอบว่า “ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้ายาวเลยตาตุ่ม ผู้ที่มอบสิ่งใดแก่ผู้อื่นแล้วลำเลิกบุญคุณ และผู้ที่นำเสนอสินค้าของเขาด้วยถ้อยคำสาบานที่ไม่เป็นความจริง” (มุสลิม หะดีษหมายเลข 106 )
เชคบักรฺ อบูเซด กล่าวว่า: "ดังนั้น จะเห็นได้ว่าท่านนบีได้ห้ามเรื่องดังกล่าวสำหรับบุรุษโดยทั่วไป มิได้เจาะจงถึงจุดประสงค์ของการสวมใส่ เพราะฉะนั้นถ้าหากเขากระทำด้วยความโอหัง ก็ถือเป็นข้อห้ามโดยเอกฉันท์ และหากสวมใส่โดยปราศจากความโอหังก็ถือว่าหะรอมเช่นกัน" ดังมีรายงานจากท่านญาบิร เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِيَاكَ وَإِسْبَالَ الإِزَارِ فَإِنَّ إِسْبَالَ اْلإِزَارِ مِنَ اْلمَخِيْلَةِ».
ความว่า “ท่านจงพึงระวังการปล่อยชายผ้ายาวระพื้น เพราะแท้จริงการปล่อยชายผ้ายาวระพื้นนั้นคือการแสดงออกถึงความโอ้อวดโอหัง” (อะหฺมัด 5/64)
อัลลอฮฺ ทรงไม่ชอบการโอ้อวดโอหัง และเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเสื้อผ้าที่ยาวระพื้นนั้นทำให้ผู้ที่สวมใส่เกิดความรู้สึกหยิ่งผยอง ถึงแม้ว่าเขาจะมิได้มีเจตนาอย่างนั้นก็ตาม เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามการกระทำดังกล่าวโดยไม่ได้มองถึงเจตนา และท่านนบียังใช้ให้อิบนุอุมัร ญาบิร บิน ซุเลม และอัมรฺ อัลอันศอรียฺ ยกชายผ้าของพวกให้ขึ้นมาจนถึงครึ่งน่อง ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการระบุถึงความโอ้อวดหยิ่งผยองในหะดีษบางบทนั้นมิใช่เงื่อนไขการห้ามแต่อย่างใด แต่เป็นการกล่าวถึงสภาพโดยทั่วไปที่การปล่อยชายผ้าต่ำลงจากตาตุ่มมักมาควบคู่กับความรู้สึกดังกล่าว ดังคำตรัสของอัลลอฮฺ
﴿وَرَبَٰٓئِبُكُمُ ٱلَّٰتِي فِي حُجُورِكُم﴾ [النساء : ١٨]
ความว่า “และลูกเลี้ยงของพวกเจ้าที่อยู่ในบ้านพวกเจ้า” (อัน-นิสาอ์ 23)
แต่ก็มีข้อยกเว้นสามประการดังต่อไปนี้:
ประการแรก ผู้ที่มิได้ตั้งใจให้ชายผ้าของเขายาวลงมา ไม่ว่าจะเกิดจากการหลงลืม หรือเป็นเพราะเข้าใจว่าได้ยกขึ้นแล้ว โดยที่เขาพยายามจะยกให้สูงขึ้นอยู่เสมอ ดังเช่นหะดีษที่รายงานโดยท่านอบูบักร
ประการที่สอง ผู้ที่ปล่อยชาวผ้ายาวเพราะสาเหตุจากโรคที่เท้า ก็ถือเป็นข้อยกเว้นที่เกิดจากความจำเป็น
ประการสุดท้าย สุภาพสตรี เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อนุญาตให้นางใส่ชุดปล่อยชายยาวได้เพื่อปกปิดเท้าทั้งสองข้างของนาง เพราะเท้าสตรีนั้นถือเป็นเอาเราะฮฺ
และจากที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นการชัดเจนแล้วว่าข้อห้ามเกี่ยวกับการปล่อยชายผ้าเลยตาตุ่มนั้นครอบคลุมเฉพาะบุรุษเท่านั้น และเป็นการห้ามโดยทั่วไป มิได้เจาะจงถึงเจตนา เพราะการปล่อยชายผ้ายาวนั้นถือเป็นการหยิ่งผยองโอหัง และผู้ที่กระทำดังกล่าวถือเป็นผู้ที่ได้กระทำบาปใหญ่ สมควรได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺ ตะอาลา ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า