คุณลักษณะเฉพาะของศาสนาอิสลาม (2)
หมวดหมู่
Full Description
﴿خصائص الدين الإسلامي (2) ﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
อับดุรเราะห์มาน อัชชีหะฮฺ
แปลโดย : อิบนุรอมลี ยูนุส
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือสาส์นแห่งอิสลาม
2010 - 1431
﴿خصائص الدين الإسلامي (2) ﴾
« باللغة التايلاندية »
عبدالرحمن بن عبدالكريم الشيحة
ترجمة: ابن رملي يونس
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: كتاب رسالة الإسلام
2010 - 1431
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
คุณลักษณะเฉพาะของศาสนาอิสลาม (2)
ศาสนาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ศาสนาอิสลามนั้น บทบัญญัติและคำสอนต่างๆ ทั้งหมดเป็นคำสอนแห่งพระผู้เป็นเจ้า จะคงอยู่มั่นคงตลอดไปไม่มีการแก้ไขและเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ศาสนาที่ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ผู้ซึ่งต้องเผชิญกับความอ่อนแอ ความผิดพลาด และตกอยู่ใต้อิทธิผลของหลายสิ่งรอบด้าน เช่น ประสบการณ์ การสืบทอด และสภาพสังคม เหล่านี้คือสิ่งที่เราพบเห็นกับตาตามความเป็นจริงในสังคม การเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมและกฎหมายต่างๆ ซึ่งเหมาะกับชนกลุ่มหนึ่งแต่ไม่เหมาะกับกลุ่มอื่นๆ เหมาะกับยุคหนึ่งแต่ไม่เหมาะกับยุคอื่น ตัวอย่างเช่น การปกครองแบบทุนนิยมที่เราเห็นจะไม่เหมาะกับการปกครองในระบบสังคมนิยม ฉะนั้นทุกระบบการปกครอง ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือคนตามความคิดเห็นและทัศนะส่วนตัวของเขา ต่อมาระบบที่ว่านี้ก็ต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วยฝีมือคนที่มีประสบการณ์และความรู้มากกว่า
ส่วนศาสนาอิสลามนั้น ก็ตามที่เราได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นศาสนาแห่งพระเจ้า ผู้ก่อตั้งคือพระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งมวล ผู้ซึ่งรอบรู้ถึงความเหมาะสมของสถานการณ์มนุษย์และความต้องการของมนุษย์ในทุกเรื่อง มนุษย์ไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธและเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของอัลลอฮฺได้ถึงเเม้เขาจะมีฐานะสูงส่งแค่ไหนก็ตาม เพราะอิสลามได้รักษาสิทธิของทุกคนอย่างเพียบพร้อมแล้ว
อัลลอฮฺได้ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า
﴿أَفَحُكْمَ الْجَاهِلِيَّةِ يَبْغُونَ وَمَنْ أَحْسَنُ مِنَ اللهِ حُكْماً لِّقَوْمٍ يُوقِنُونَ﴾ (المائدة : 50)
ความว่า : “ข้อตัดสินสมัยญาฮิลีญะฮฺกระนั้นหรือ ที่พวกเขาปรารถนา และใครเล่าที่จะมีข้อตัดสินดียิ่งกว่าอัลลอฮฺสำหรับกลุ่มชนที่เชื่อมั่น" (อัล-มาอิดะฮฺ 50)
ศาสนาที่เหมาะกับทุกสภาพและเวลา
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สามารถเข้ากับการพัฒนาใหม่ๆ ได้ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงเป็นศาสนาที่เหมาะสมกับทุกกาลเวลาและสถานที่
อิสลามได้นำเสนอหลักการพื้นฐานทั่วไปและกฎเกณท์ที่ครอบคลุมทุกเรื่องอย่างมั่นคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยแวดล้อมใดๆ ดังเช่น หลักการด้านอะกีดะฮฺ (หลักศรัทธา) และหลักการด้านปฏิบัติเพื่อความภักดี ตัวอย่างเช่นการละหมาด ทั้งจำนวนร็อกอะฮฺ (จำนวนการยืนนั่งในละหมาด) เวลาละหมาด และการจ่ายซะกาต พร้อมทั้งอัตราของมัน และสิ่งที่จำต้องเเจกจ่าย การถือศีลอดพร้อมทั้งเวลาของมัน และการประกอบพิธีฮัจญ์พร้อมทั้งรูปแบบการปฏิบัติ รวมถึงเวลาและขอบเขตของมัน เป็นต้น
ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและทุกเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบันล้วนแล้วมีการกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเราสามารถที่จะนำมาใช้ได้ ส่วนบางสิ่งที่ไม่มีบอกในอัลกุรอานเราก็จะค้นหาสิ่งนั้นจากสายรายงานที่ถูกต้องจากท่านศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความสันติจงประสบแด่ท่าน) ซึ่งถ้าได้พบเจอในสิ่งนั้น เราก็จะนำมาปฏิบัติ แต่ถ้าไม่พบ ขั้นต่อไปคือเป็นหน้าที่ของนักวิชาการอิสลามที่ต้องวินิจฉัยและค้นคว้าโดยอาศัยหลักการทั่วไปในอัลกุรอานและวจนะของท่านศาสนทูตมุหัมมัด และนำเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมมาเทียบกับกฎหรือหลักมูลฐานต่างๆ ในศาสนาที่มีรากฐานมาจากอัลกุรอานและวจนะของท่านศาสนทูต เช่น กฎต่างๆ ดังนี้ :
- หลักเดิมของทุกเรื่องทางโลกคือ การอนุมัติให้ทำได้ (ยกเว้นสิ่งที่มีหลักฐานห้าม)
- การรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์
- การเน้นความสะดวกและละทิ้งความลําบาก
- การขจัดสิ่งที่เป็นภัย
- การห้ามปัจจัยที่นำไปสู่ความพินาศ
- ความจำเป็น คือปัจจัยอนุญาตให้ทำในสิ่งที่ต้องห้าม
- สิ่งที่กระทำเนื่องจากความจำเป็น อนุญาตให้ทำเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
- การขจัดสิ่งอันตราย ต้องถูกลำดับให้มาก่อนการรวบรวมสิ่งมีประโยชน์
- การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่มีอันตรายน้อยกว่า
- อันตรายย่อมไม่ถูกกำจัดด้วยอันตรายด้วยกัน
- สละภัยส่วนตัวเพื่อกำจัดภัยส่วนรวม
และกฎอื่นๆ อีกมากมาย
การวินิจฉัยที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถทำตามความปรารถนาของจิตใจและความต้องการเเบบไม่มีขอบเขต แต่การวินิจฉัยที่ว่านี้คือการเข้าไปถึงจุดมุ่งหมายที่นำมาซึ่งผลประโยชน์ที่ดีต่อมนุษย์โดยไม่ขัดเเย้งกับบทบัญญัติแห่งอิสลาม เป้าหมายคือต้องการให้อิสลามมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ และเหมาะสมกับความต้องการของสังคม
ศาสนาที่ไม่มีการแบ่งชนชั้น
ศาสนาอิสลามไม่แบ่งชนชั้นและความเเตกต่างในการใช้กฎหมายและระเบียบต่างๆ เพราะอิสลามถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันไม่มีความเเตกต่างกันระว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างคนที่ฐานะสูงกว่ากับคนที่มีฐานะตํ่ากว่า ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนธรรมดา หรือระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ ทุกคนเสมอกันในระบบการปกครองแบบอิสลาม
“ครั้งหนึ่งชาวกุร็อยชฺกำลังพูดถึงเรื่องราวหญิงคนหนึ่งจากเผามัคซูมียะฮฺซึ่งโดนข้อหาขโมย พวกเขากล่าวว่า ใครบ้างที่จะช่วยเจรจาเรื่องนี้กับท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ? พวกเขาตอบว่า ไม่มีใครกล้าหรอกนอกจากคนที่ชื่ออุซามะฮฺ บิน ซัยดฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เท่านั้น เพราะเขาเป็นที่รักของท่านศาสนทูต หลังจากนั้นอุซามะฮฺได้ไปเจรจากับท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และท่านตอบว่า เจ้าต้องการขอช่วยเหลือในเรื่องการลงโทษของอัลลอฮฺกระนั้นหรือ ? ท่านได้ลุกขึ้นยืน และกล่าวปราศรัยว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า แท้จริงแล้ว กลุ่มชนยุคก่อนพวกท่านได้ประสบกับความหายนะ เพราะเมื่อผู้มีฐานะในจำนวนพวกเขาขโมย พวกเขาละเลยไม่เอาผิด และถ้าเมื่อไหร่คนอ่อนแอในจำนวนพวกเขาขโมย พวกเขาก็ลงโทษเขา ฉันขอสาบานว่า ถึงแม้ฟาติมะฮฺลูกสาวของมุหัมมัดขโมยแน่นอนฉันจะก็ตัดมือนางเช่นเดียวกัน" (เศาะฮีหฺ มุสลิม 3/1315 เลขที่ 1688)
ศาสนาที่มีแหล่งอ้างอิงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ในศาสนาอิสลามจะมีหลักฐานและเเม่บททางศาสนาที่ชัดเเจ้ง ปราศจากข้อบกพร่องและการปรับปรุง ดัดแปลงหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น รากฐานอันเป็นที่มาของศาสนาอิสลามนั้นจะมีอยู่คือ 1) คัมภีร์อัลกุรอานอันทรงเกียรติ 2) ซุนนะฮฺ(แบบอย่าง)ของท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
อัลกุรอานนั้น นับตั้งแต่ที่ได้ประทานลงมาให้กับท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จนถึงทุกวันนี้ ทั้งอักขระ โองการ และบทต่างๆ ของมันทั้งหมด ยังคงเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงและบิดเบือน ไม่มีการเพิ่มหรือลดทอน
ท่านศาสนทูตได้คัดเลือกบรรดาเหล่าสาวกอาวุโสของท่านหลายคนมาเป็นผู้บันทึกและจารึกอัลกุรอานอย่างดี เช่น ท่านอะลี, มุอาวียะฮฺ, อุบัย บิน กะอับ และซัยดฺ บิน ษาบิต ซึ่งทุกครั้งที่มีโองการของอัลลอฮฺถูกประทานลงมา ท่านจะสั่งบรรดาสาวกดังกล่าวให้จดบันทึกและแนะนำจุดที่บทต่างๆ ควรบันทึกเรียบเรียงอย่างไร ดังนั้น โองการดังกล่าวจะถูกจารึกเป็นเล่ม และถูกท่องจำในทรวงอกของเหล่าสาวกของท่านด้วย และมุสลิมทุกคนก็ให้ความสำคัญกับอัลกุรอานมาก พวกเขาต่างเเข่งขันเพื่อเรียนรู้อัลกุรอานและสอนมัน โดยหวังอย่างที่ท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวไว้
ความว่า : “ผู้ประเสริฐสุดในจำนวนพวกท่านคือ ผู้ที่เรียนรู้อัลกุรอานและสอนอัลกุรอาน" (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 4/ 1919 เลขที่ 4739)
มุสลิมจะทุ่มเททั้งด้วยชีวิตและทรัยพ์สินเพื่อรับใช้และเอาใจใส่อัลกุรอานให้คงอยู่ตลอดไปสืบต่อๆ กันจนถึงยุคปัจจุบัน พวกเขาจะท่องและอ่านอัลกุรอานเพราะถือว่าการท่องและการอ่านเป็นการกระทำเพื่อแสดงความภักดีอย่างหนึ่ง ท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าว
ความว่า : “ใครที่อ่านส่วนหนึ่งของอัลกุรอานแค่อักษรเดียวจะได้หนึ่งผลบุญ และหนึ่งผลบุญเท่ากับสิบเท่า ฉันไม่ได้กล่าวว่าألم (อะลีฟ ลาม มีม) คือหนึ่งตัวอักษร แต่ฉันบอกว่า อะลีฟ คือหนึ่งอักษร ลาม ก็อีกหนึ่งอักษร และมีมก็คืออีกหนึ่งอักษร" (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 5/175 เลขที่ 2913)
ส่วนซุนนะฮฺของท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้น ถือว่าเป็นรากฐานแหล่งข้อมูลของอิสลามอันดับที่สอง ทำหน้าที่เพื่ออธิบายอัลกุรอาน และชี้แจงบทบัญญัติที่มีอยู่ในอัลกุรอาน ซุนนะฮฺของท่านได้ถูกพิทักษ์ปกป้องอย่างดีจากการสร้างความเสียหาย การปั้นแต่ง และแต่งแต้มบิดเบือน ด้วยการพิทักษ์ของอัลลอฮฺ ผ่านการทุ่มเทของบรรดาผู้สืบทอดที่ซื่อสัตย์ทรงคุณธรรม ผู้ซึ่งสละมอบชีวิตของพวกเขาเพื่อการเรียนรู้หะดีษต่างๆ ของท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษาเกี่ยวสายรายงานของมัน หรือตัวบทของมัน หรือทำการศึกษาระดับความถูกผิดของมัน ตลอดจนเรื่องราวที่เกี่ยวกับสภาพของผู้รายงานและระดับของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์ทั้งทางบวกและทางลบ พวกเขาจะรายงานทุกหะดีษของท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่างละเอียด พวกเขาจะไม่ยึดเอานอกจากสิ่งที่พบว่ามีการรายงานอย่างถูกต้องจากท่านศาสนดามุหัมมัด ดังนั้น หะดีษเหล่านั้นจึงได้มาถึงมือเราโดยบริสุทธิ์ ปราศจากหะดีษต่างๆ ที่ถูกปลอมแปลง
บุคคลใดอยากจะศึกษาเกี่ยวกับวิธีการจดบันทึกซุนนะฮฺของท่านศาสนทูต ก็สามารถที่จะศึกษาได้จากหนังสือที่เกี่ยวกับวิชานี้โดยเฉพาะ ซึ่งอิสลามเรียกวิชานี้ว่า (มุศเฏาะละฮฺ อัล-หะดีษ) ซึ่งเป็นวิชาเฉพาะเพื่อรับใช้ด้านนี้ ทั้งนี้เพื่อบ่งบอกว่าซุนนะฮฺของท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งคำพูด การกระทำและการยอมรับของท่าน ล้วนแล้วมีการายงานอย่างชัดเเจ้งส่งถึงมือเราอย่างถูกต้องแบบไม่ต้องสงสัย และเพื่อให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของการทุ่มเทเพื่อรับใช้ซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม